ศาลเจ้าไท้ซู่ ทุ่งคา (หลิมฮู้ไท้ซู่)
ศาลเจ้าไท้ซู่ ทุ่งคา (หลิมฮู้ไท้ซู่)
ไปปั่นจักรยานกัน วันนี้ไปแถวๆ โรงเรียนสตรีภูเก็ต ขี่ผ่านมาก็บ่อยแล้วใยทำไมเราไม่เคยแวะกับเขาบ้างเลยนะ ศาลเจ้ามีลวดลายและรูปปั้นลอยสวยออก ดูได้จากรูปเลย บนหลังคาทำได้สวยงามมาก ขอชวนให้ไปชมกันที่ตั้ง : ถ.ทุ่งคา ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
การเดินทาง : สี่แยกโรงเรียนสตรี มาทางถนนทุ่งคา ทางเข้าเป็นร้านขายรถมือสอง จ.เจริญยนต์
ประวัติ :
ศาลเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือ แห่งนี้เรียกว่า ศาลเจ้าไท้ซู เป็นสำนักเรียกว่า ถงอินกง (ทงฮุนเก้ง) ตั้งอยู่เลขที่ ๖๗ ถนนทุ่งคา ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง ภูเก็ตอิทธิศักดิ์ (ปึงเบ่งอู่) หงษ์บุตร (ประวัติงานถือศีลกินเจและประวัติศาลเจ้าในจังหวัดภูเก็ต : ๒๕๒๓) กล่าวว่า เดิมเป็นที่ดินของกำนันเซียวแบะหรือ มีกรรมกรจีนกลุ่มหนึ่ง ปลูกกระท่อมอาศัยอยู่เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๑๐ เพื่อรับจ้างทำเหมืองแร่ให้แก่หลวงพิทักษ์ชินประชา (ตันม้าเสียง)
ต่อมาคนจีนเหล่านั้นเกิดป่วยลง จึงบนบานเทพเจ้าที่พวกตนเคารพมาแต่เมืองจีน คือ หลิมฮู้ไท่ซือ ด้วยอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ปรากฏว่าต่างก็หายป่วย จึงช่วยกันสร้างกระท่อมหลังคาจากหลังเล็กๆ แล้วเอาไม้มาแกะสลักรูปองค์ท่านแบบอย่างเมืองจีน ไว้กราบไหว้บูชา ข่าวดังกล่าวได้แพร่หลายไปทั่ว คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือต้องการโชคลาภต่างก็มาบนบานและได้ในสิ่งที่ประสงค์
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพิทักษ์ชินประชากับกรรมกรชาวจีนจึงร่วมใจกันซื้อที่ดินจากกำนันเซียวแบะ หรือขุนพิทักษ์นราบรรณ์ซึ่งต่อมาเป็นหลวงพิทักษ์นราบรรณ์ แล้วสร้างเป็นศาลเจ้าก่ออิฐถือปูนแบบจีน เรียกว่า “ศาลเจ้าไท้ซู” โดยหันหน้าศาลเจ้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งด้านหน้าเป็นคลองน้ำที่ไหลมาจากคลองบางใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ออกโฉนดเป็นชื่อหลวงพิทักษ์ชินประชาร่วมกับศาลเจ้าไท้ซู มีเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๘๐ วา หลวงพิทักษ์ชินประชา (ต่อมาเป็นพระพิทักษ์ชินประชา) ได้เป็นผู้จัดการศาลเจ้าจนถึงแก่กรรม ที่ดินศาลเจ้าได้มีผู้ออกหนังสือสำคัญเพื่อครอบครองในปี พ.ศ. ๒๔๙๘
ด้วยกาลเวลาทำให้ตัวศาลเจ้าชำรุดทรุดโทรมมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ นาย บารื้อ ชาวภูเก็ตเชื้อสายอินเดียได้รับโชคจากองค์ท่านถูกหวย จึงได้ซ่อมแซมบางส่วน และหันหน้าศาลเจ้าออกไปทางถนนทุ่งคา แต่ศาลเจ้าก็ถูกทอดทิ้งปิดตาย รูปแกะสลักองค์พระสูญหาย ในปลายปีพ.ศ. ๒๕๑๘ นายอิทธิศักดิ์ หงส์บุตรจึงทำเรื่องร้องเรียนถึงนายชิต นุ้ยภักดี นายอำเภอเมืองภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้ออกโฉนดใหม่ตามต้นฉบับเดิมที่หายไป ทางอำเภอได้แต่งตั้งนายอิทธิศักดิ์ หงษ์บุตรเป็นผู้จัดการ และนายวิรัช หงษ์หยก เป็นผู้สอดส่องตรวจตราศาลเจ้า
ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ มีนายศิริพงษ์ เลื่อนฉวี เป็นผู้จัดการ ณ พ.ศ. นี้ศาลเจ้าจึงมีอายุ ๑๔๐ ปีมาแล้ว โดยมีนายจรินทร์ (จิ่น) นิตย์กิจสมบูรณ์ เจ้าของ จ. เจริญยนต์ที่เช่าพื้นที่ศาลเจ้าอยู่ มีจิตศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์ตัวอาคารแบบจีนและจัดหาสิงโตคู่ขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่หน้าศาลเจ้า ด้วยงบประมาณของตนเองจำนวนมาก และยังได้มอบให้นายอำพล โกยสกุล เป็นผู้ดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของศาลเจ้าทั้งภายในและภายนอก จนสวยงามเป็นสถานที่เคารพน่าเข้าไปกราบไหว้สักการะแห่งหนึ่งของเมืองภูเก็ต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น